วันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2555

บทความไทยโพสต์

ทุจริตสำแดงมาแรงกว่าที่คาด
  • 10 กันยายน 2555
พรรคเพื่อไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ท้าทายกับปมคอร์รัปชัน ที่มีการพาดพิงมายังคนในรัฐบาลและการดำเนินนโยบายบางโครงการ
สาหัสที่สุดคือ โครงการรับจำนำข้าว ที่ภาคเอกชน นักวิชาการตั้งวงชำแหละว่าเป็นโครงการมหาคอร์รัปชัน เปิดช่องให้โกงกินทุกขั้นตอน คาดกันว่าจนถึงขณะนี้มีเม็ดเงินรั่วไหลไปแล้วนับแสนล้านบาท
และยังไม่เห็นทางออกว่า พรรคเพื่อไทยจะหยุดวงจรคอร์รัปชันในโครงการจำนำข้าวอย่างไร!
อีกซีก ภาคเอกชน โดยภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นแห่งชาติ ยังคงเดินหน้ารณรงค์ต่อเนื่อง พุ่งเป้าไปที่โครงการจำนำข้าว โครงการจัดการน้ำ และโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่มีเม็ดเงินสูง ซึ่งมีข้อมูลยืนยันว่านักธุรกิจถูกเรียกเก็บเงินค่าหัวคิวใต้โต๊ะสูงกว่า 25%
ประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานภาคีฯ ระบุว่า รัฐบาลสอบตกการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน กลับปล่อยให้ระบาดหนักขึ้น โดยปี 2554 ดัชนีคอร์รัปชันของไทยอยู่อันดับที่ 80 สูงขึ้นจากลำดับที่ 78 ใน 183 ประเทศทั่วโลกที่มีปัญหาคอร์รัปชัน
สอดคล้องกับผลสำรวจของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่พบว่า สถานการณ์คอร์รัปชันเดือน มิ.ย. 2555 ทวีความรุนแรงขึ้น ดัชนีความเชื่อมั่นต่ำลงมาอยู่ที่ 3.5 คะแนน จากเต็ม 10 และเชื่อว่าปี 2556 ปัญหาคอร์รัปชันจะเกิดมากขึ้นจากงบ3.5 แสนล้านบาท จากโครงการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ
ขณะเดียวกัน ตัวละครที่ปรากฏในข่าวคอร์รัปชันแบบมาแรงแซงทางโค้ง ณ เวลานี้ต้องยกให้ นักการเมือง ด. ในรัฐบาล หลังถูกระบุเกี่ยวข้องกับความไม่โปร่งใส เรียกรับผลประโยชน์การประมูลงานหลายโครงการ
ที่มาแรกเริ่มจากฝ่ายค้าน พิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล สส.พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาแฉระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2556 วงเงิน 2.4 ล้านล้านบาท ว่ามีคนดังของฝ่ายรัฐบาลเข้ามาครอบงำการพิจารณางบ
ตามด้วย ศุภชัย ใจสมุทร สส.พรรคภูมิใจไทย ขยายแผลซ้ำในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ วาระ 2-3 ว่ามีนักการเมืองดังใกล้ชิดกับรัฐมนตรี ดึงเงินจากกระทรวงมาลงพื้นที่ของตัวเอง และยังครอบงำ คณะกรรมาธิการงบประมาณทั้งคณะ
กระทั่งการโยกย้ายฟ้าผ่า พ.ต.อ.ดุษฎีอารยวุฒิ พ้นจาก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ไปเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม ก็ถูกโยงว่าเพราะนักการเมือง ด.ไม่พอใจที่ พ.ต.อ.ดุษฎี เข้าไปตรวจสอบคดีหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้ารถหรู ซึ่งกระทบคนใกล้ชิด
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการแฉว่า เป็นเพราะมือปราบโกงผู้นี้ไปตรวจสอบโครงการฟื้นฟู ป้องกันความเสียหายจากน้ำท่วม ซึ่งมีงบสูงถึง 1.2 แสนล้านบาท โดยพบว่าในพื้นที่ 6 จังหวัด ภาคอีสาน ภาคเหนือ ฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย โครงการฟื้นฟูก่อสร้างแหล่งน้ำ ซ่อมแซมถนนลาดยาง ถนนลูกรัง หลายร้อยโครงการที่ถูกตรวจสอบล้วนโกงกินไม่มีเหลือ ท่ามกลางกระแสข่าวว่ามีการชักหัวคิวการประมูลงานผ่านกลุ่มก๊วนในพื้นที่ส่งถึงนักการเมืองคนดัง

แม้แต่การโยกย้ายแต่งตั้งบิ๊กข้าราชการในฤดูโยกย้ายหลายกระทรวง วงในสะพัดว่าต้องวิ่งผ่าน บิ๊ก ด.ที่คุมอำนาจเบ็ดเสร็จอยู่
อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทยออกมาปฏิเสธว่า ไม่ทราบว่านักการเมือง ด.คือใครในรัฐบาล และท้าให้ยื่นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบ
ประเด็นการทุจริตที่เป็นมรสุมกระหน่ำรัฐบาลเพื่อไทยอยู่เวลานี้ และการพุ่งเป้าไปที่ ด.คาดว่าจะเป็นหัวเชื้อให้ฝ่ายค้านต่อภาพให้เห็นถึงวงจรคอร์รัปชันภายในรัฐบาล ระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ซึ่งฝ่ายค้านต้องยื่นหลักฐานและคำร้องต่อ ป.ป.ช. ให้ถอดถอนนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายด้วยข้อหาทุจริต
นี่เป็นศึกหนักของพรรคเพื่อไทย...
เพราะไม่ใช่แค่ฝ่ายค้านที่ตรวจสอบการคอร์รัปชันเพียงลำพัง ซึ่งรัฐบาลอาจโต้ได้ว่าเป็นเกมการเมืองต้องการทำลายความเชื่อถือ หากแต่สถาบันทีดีอาร์ไอ นักวิชาการ พลังจากภาคเอกชน ต่างจับตาการคอร์รัปชันภาครัฐทุกฝีก้าว
ที่สำคัญ กลับกลายเป็นว่ารัฐบาลเองเป็นตัวการสนับสนุนการคอร์รัปชัน เมื่อกลไกของรัฐคือ เลขาธิการ ป.ป.ท. ที่มีหน้าที่ตรวจสอบคอร์รัปชันโดยตรงและเริ่มมีผลงานปรากฏ กลับถูกรัฐบาลสั่งย้ายเข้ากรุ
สิ่งที่รัฐบาลทำให้เห็น มีเพียงเรื่องเดียว คือ การจัดงานพิธีกรรมต่อต้านการคอร์รัปชันและคำพูดที่สวยหรู
ทั้งที่รัฐบาลยืนยันหนักแน่นว่าจะปราบปรามการคอร์รัปชันอย่างจริงจัง
และเป็น 1 ใน 16 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ที่นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2554 ช่วงเข้ารับตำแหน่ง โดยเขียนนโยบายปราบปรามการคอร์รัปชันเป็นลำดับที่สาม รองจากการแก้ปัญหายาเสพติด การสร้างความปรองดอง
สำทับอีกครั้ง จากคำกล่าวของนายกฯยิ่งลักษณ์ ล่าสุดที่มาเปิดงาน “Stop Corruption : รวมพลเครือข่ายต้านคอร์รัปชั่นร่วมกับภาคเอกชน เมื่อวันที่ 18 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยยังคงยืนยันเจตนารมณ์เดิมที่ต้องการหยุดคอร์รัปชัน
เราต้องรวมพลังกันแก้ปัญหานี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศไทย เพราะการที่ต่างประเทศจะตัดสินใจมาลงทุนจะดูความโปร่งใสในการทำธุรกิจที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศ
ว่าไปแล้ว รัฐบาลเพื่อไทยมีบทเรียนจากปัญหาคอร์รัปชันในยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่หลายคนยังติดบ่วงคดีคอร์รัปชันในชั้นศาลอยู่
บทเรียนดังกล่าว ทำให้แกนนำพรรคเพื่อไทยต่างเห็นตรงว่า ถึงแม้พรรคเพื่อไทยจะมีชัยชนะล้นหลามและมีโอกาสอยู่ยาว ทว่าปัจจัยที่ทำให้รัฐบาลจะเสื่อมศรัทธา หนึ่งในนั้นคือ
ปัญหาคอร์รัปชัน ...
นักการเมืองเชี่ยวกรากอย่าง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ระบุว่า เงื่อนไขที่จะทำให้รัฐบาลเพื่อไทยอยู่อย่างมั่นคง ต้องทำ 3 เรื่อง 1.แก้ปัญหายาเสพติดได้ 2.แก้ปัญหาความยากจนได้ และ3.กำจัดคอร์รัปชัน โดยเฉพาะรัฐบาลต้องไม่มีเรื่องคอร์รัปชันเป็นอันขาด ถ้าครบ 3 อย่าง ใครทำอะไรรัฐบาลไม่ได้
แกนนำขบวนการเสื้อแดง จตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) วิเคราะห์เช่นกันว่า รัฐบาลต้องไม่ปราบปรามประชาชนและต้องไม่คอร์รัปชัน
วันนี้คนในพรรคเพื่อไทยต่างยอมรับว่าปัญหาคอร์รัปชันสำแดงเร็วกว่าที่คาดและกระเทือนกับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลแน่นอน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น