วันอังคารที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2555

วสิษฐ เดชกุญชร

วสิษฐ เดชกุญชร "การแต่งตั้งตำรวจ: อัปยศไม่รู้จบ"
 ถึงแม้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ผู้ทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการ ข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) แทนนายกรัฐมนตรี จะออกมาแถลงยืนยันว่า การประชุม ก.ตร. เพื่อพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการตำรวจเมื่อวันพุธที่ 29 สิงหาคมนี้ เป็นการแต่งตั้งที่ "เรียบร้อย ถูกต้อง ชอบธรรม" และที่สำคัญที่สุดตั้งแต่ตนมาอยู่ (ในฐานะประธาน ก.ตร.) ตำรวจไม่ต้องเสียเงิน เสียทอง และตำรวจยุคนี้เป็นตำรวจที่มีฝีมือจริง ฯลฯ แต่ก็คงไม่มีใครเชื่อถ้อยแถลงของรองนายกฯ รัฐมนตรีผู้นี้นัก

เพราะข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในการประชุม ก.ตร.นัดที่กล่าว ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนถึง 6 นาย ไม่ยอมร่วมและเดินออกจากที่ประชุม คนหนึ่งคือ พล.ต.อ.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช ได้เปิดเผยเหตุผลแก่ผู้สื่อข่าวว่า การเสนอชื่อนายตำรวจเพื่อให้ที่ประชุม ก.ตร.พิจารณา หลายรายมีคุณสมบัติ ไม่เหมาะสม และไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ บางรายมีการปรับเปลี่ยนชื่อ "แบบกะทันหัน" ในที่ประชุม และแม้ตนจะอภิปราย (ไม่เห็นด้วย) แล้วก็ไม่ได้ผล จึงออกจากที่ประชุม

นอกจาก ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 6 นายแล้ว ยังมีก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิอีก 3 นาย ขาดประชุม แต่ก็ยังเหลือกรรมการโดยตำแหน่งและผู้ทรงคุณวุฒิอีกครบองค์ประชุม การประชุมจึงดำเนินต่อไปได้จนถึงที่สุด

เกี่ยวกับเรื่องการแต่งตั้งตำรวจนี้ ผมได้เคยเขียนแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์มาแล้ว หลายครั้งหลายหน และในสมัยที่ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นนายกรัฐมนตรี ก็เคยได้รับมอบหมาย ให้เป็นประธานคณะกรรมการสอบสวนการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจที่ไม่เป็นธรรม ทั้งยังเคยเสนอและนายกรัฐมนตรีเห็นชอบให้วางหลักเกณฑ์การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมด้วย

แต่ปัญหาเกี่ยวกับการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจก็ยังมีอยู่ ที่น่าสังเกตสำหรับคราวนี้ก็คือ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ 6 นาย ที่ไม่ร่วมประชุมและเดินออกจากที่ประชุมนั้น 5 นาย เป็นนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ยศ พล.ต.อ.และ พล.ต.ท. เคยดำรงตำแหน่งสูงและสำคัญในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่วนอีกผู้หนึ่ง (รศ.ร.ต.อ.สรพลจ์ สุขทรรศนีย์) ก็เคยรับราชการตำรวจเช่นเดียวกัน

นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่อยู่ในราชการมาหลายสิบปีนั้น ย่อมยังมีผู้ที่เคยอยู่ใต้บังคับบัญชาและยังอยู่ในราชการไม่มากก็น้อย เพราะฉะนั้น ก็คงจะพอมีข้อมูลส่วนตัว รู้ว่าใครเป็นใคร มีหรือไม่มี ฝีไม้ลายมือมากน้อยเพียงไหน

และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ บางคนคงมีอคติเข้าข้างลูกน้องเก่าของตนอยู่บ้างเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น จึงอาจไม่เห็นด้วยกับการที่ลูกน้องเก่าของตน ไม่ได้รับการเสนอชื่อและพิจารณาแต่งตั้ง

การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจจึงกลายเป็นผลของการต่อสู้ และต่อรองกันระหว่างปลอกคอ ที่ตำรวจใหญ่น้อยรู้ดี ทำให้ในการแต่งตั้งทุกครั้ง แม้ตำรวจที่มีฝีมือก็วางใจไม่ได้ ต้องใช้ฝีตีน (วิ่งเต้น) หาปลอกคอหรือผู้สนับสนุนทุกรายแทบไม่มีข้อยกเว้น

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ผลของการแต่งตั้งแบบนี้เสียหายร้ายแรงแก่ขวัญกำลังใจและเกียรติภูมิของตำรวจดีๆ เพียงใด ตำรวจบางคนถึงกับไม่สนใจหรือทิ้งงานประจำในหน้าที่ แล้วเอาเวลาราชการ ไปเกาะขารับใช้นาย (หรือเมียนาย) แล้วก็มักจะได้ผล คือพอถึงฤดูการแต่งตั้งเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง ก็ได้รับการพิจารณาก่อนหรือเหนือคนอื่น

ส่วนที่รองนายกรัฐมนตรีคุยว่าตำรวจไม่ต้องเสียเงินเสียทองในการแต่งตั้งนั้น ก็อาจเป็นความจริงในกรณีของท่าน แต่ใครจะไปรู้ว่าคนอื่นที่มีอำนาจหน้าที่ในการเลือก และเสนอชื่อตำรวจเพื่อรับการแต่งตั้งนั้น จะไม่แบมือรับเงินใต้โต๊ะหรือบนโต๊ะ หน้าบ้านและหลังบ้าน เพื่อแลกกับการใส่ชื่อของตำรวจลงในบัญชีที่ไปสู่การพิจารณาของ ก.ตร.

การแต่งตั้งตำรวจทุกยุคทุกสมัยจึงไม่พ้นครหาว่าไม่โปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้ (หรือไม่มีใคร คิดจะตรวจสอบ) และน่าเชื่อว่ามีทุจริตหรือคอร์รัปชั่น

ที่จริง ก.ตร.วางหลักเกณฑ์ในการพิจารณาแต่งตั้งเอาไว้นานแล้ว แต่ดูเหมือนว่านอกจาก ก.ตร.เองจะไม่สนใจในหลักเกณฑ์แล้ว ในหลายกรณีที่ผ่านมา ก.ตร.ยังยอมอนุมัติให้ยกเว้นไม่ใช้ หลักเกณฑ์เสียด้วย



ผมเชื่อว่าในการพิจารณาแต่งตั้งคราวล่าสุดนี้คงมีข้าราชการตำรวจที่คิดว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรมอยู่ไม่น้อย ในฐานะที่เป็นตำรวจนอกราชการ ผมไม่สามารถจะช่วยเหลืออะไรได้ นอกจากเห็นใจ แต่ในฐานะที่เป็นนักเขียนและได้รับโอกาสให้พูด ผมก็จะยังเขียนและพูดให้อ่าน และให้ฟัง เผื่อผู้อ่านหรือผู้ฟังที่มีอำนาจและมีใจเป็นธรรมจะรับเอาไปช่วยเหลือแก้ไขได้

ผมบอกแล้วว่าในสมัยที่ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นนายกรัฐมนตรี ผมได้รับแต่งตั้งให้เป็น ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในการแต่งตั้งตำรวจ ในโอกาสนั้น ท่านอาจารย์ เดชอุดม ไกรฤทธิ์ อดีตนายกสภาทนายความ ซึ่งเป็นกรรมการตรวจสอบผู้หนึ่ง ได้เขียนหนังสือขึ้นเล่มหนึ่ง เสนอคณะกรรมการ โดยรวบรวมประมวลกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งกรณีตัวอย่างมาไว้ในหนังสือเล่มนี้ สะดวกแก่การที่จะตรวจสอบการแต่งตั้งของผู้บังคับบัญชาตำรวจ ว่าเป็นไปโดยถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่ และหากประสงค์จะทราบข้อเท็จจริง เช่น ในการประชุมพิจารณาแต่งตั้ง (ซึ่งที่แล้วมาถือเป็นเรื่องปกปิด) หนังสือเล่มนี้ก็ยังมีคำแนะนำวิธียื่นคำร้องต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนั้นด้วย

คณะกรรมการตั้งชื่อหนังสือเล่มนี้ว่า "คู่มือการตรวจสอบการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจประจำปี (อนุสรณ์ฯ จ่าเพียร)" และในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 นายกรัฐมนตรี (อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ได้อนุมัติให้พิมพ์แจกตำรวจทั่วประเทศเป็นจำนวน 20,000 เล่ม หนังสือเล่มนี้คงถึงมือหรือผ่านตาตำรวจแล้วเป็นจำนวนมาก และหากผู้ใดต้องการที่จะร้องเรียน หรือฟ้องร้องเพื่อขอความเป็นธรรมในการแต่งตั้ง หนังสือเล่มนี้จะใช้เป็นคู่มือได้เป็นอย่างดี

ผมขอแนะนำให้ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม และขอเอาใจช่วยด้วยครับ
:

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น