วันพุธที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2555

บทวิเคราะห์มติชน

ครบรอบ 6 ปี รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 บทเรียนและที่มาที่ไปของรัฐ ประหารดังกล่าวคืออะไร เป็นเรื่องที่น่าสนใจ

รัฐประหารแก้ปัญหาการเมืองได้หรือไม่ หรือกลับยิ่งสร้างแนวโน้มของโอกาสที่จะเกิดรัฐประหารขึ้นอีก เป็นคำถามที่ท้าทายการถกเถียง

ลองฟังจากนักวิชาการที่ติดตามปัญหาการเมืองไทยมาตลอด

รศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า รัฐประหารในปี 2549 แตกต่างจากครั้งอื่น

เพราะได้เปิดตัวผู้เล่นทางการเมืองที่เคยอยู่เบื้องหลังมาปรากฏให้สังคมรับรู้ชัดเจนขึ้น

ทำให้เกิดคำถามที่ต่างไปจากเดิม ความเปลี่ยนแปลงตลอด 6 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ แต่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีน้ำหนัก

กลายเป็นว่าการรัฐประหารถูกทำให้เป็นคนละขั้วกับการเลือกตั้ง และแนวโน้มความต้องการเรียกร้องของประชาชนให้เคารพสิทธิการเลือกตั้ง โดยไม่เอาการรัฐประหารมาล้มล้างเจตนารมณ์ที่เกิดจากการเลือกตั้งจะรุนแรงและชัดเจนขึ้น

"สิ่งหนึ่งที่ยังไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงคือ การเมืองถูกกำหนดโดยการต่อรองของกลุ่มคนชั้นนำอยู่เช่นเดิม ประชาชนเห็นภาพเหล่านั้นชัดเจนขึ้น ทำให้เกิดการเรียกร้องเข้าไปมีส่วนในพื้นที่ต่อรองด้วย ถือว่าเป็นการเปลี่ยนภูมิทัศน์ในการแข่งขันทางการเมืองที่เกิดขึ้นในระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา" รศ.สิริพรรณกล่าว

นักวิชาการรัฐศาสตร์จากจุฬาฯยังกล่าวว่า อยากเห็นการเปิดพื้นที่การต่อรองและการแสดงความเห็นอย่างจริงจัง

ไม่ใช่แค่การจัดเสวนา ประชุม คณะกรรมการอิสระเข้ามาแสดงความคิดเห็นและรับฟังเท่านั้น ภาครัฐควรเข้ามามีบท บาทด้วย เช่น การทำประชามติ ประชาพิจารณ์ ที่มีผลบังคับใช้จริง ครอบคลุมตามกระบวนการมาตรฐานสากล



เพื่อช่วยระบายความคับข้องใจของประชาชน ไม่ใช่แค่การชุมนุมที่ท้องถนน การประท้วงที่ไม่ได้ทำให้เกิดการแก้ไขในระยะยาว และอาจกลายเป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหารในอนาคตด้วย ทั้งนี้ ทุกฝ่ายควรเคารพกติกาประชาธิปไตย ไม่ใช้ความรุนแรง ให้การเมืองและสังคมเดินหน้าต่อไปได้

อาจจะช้า เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าการเมืองไทยยังถูกชนชั้นนำผูกขาด แต่การเติบโตของคนชั้นกลางจะเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเมืองเหล่านี้ผ่านระบบเศรษฐกิจ และต้องการพื้นที่ต่อรองผลประโยชน์มากขึ้น ทำให้เกิดการกระจายอำนาจที่ไม่เกี่ยวกับรัฐประหาร

อีกมุมหนึ่ง จาก ปกรณ์ ปรียากร อดีต คณบดี คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ให้ทรรศนะว่าในโลกประชาธิปไตย ไม่มีใครต้องการรัฐประหารอีก

แต่เหตุผลที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) อ้างในการรัฐประหาร สะท้อนให้เห็นประเด็นที่สังคมต้องระมัดระวังและแก้ไขให้ได้ 3 เรื่องด้วยกัน

1.การเป็นประชาธิปไตย ต้องรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง 2.พฤติกรรมของนักการเมืองที่คดโกงแผ่นดิน ควรได้รับการตระหนักอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ใช่วิธีรัฐประหาร เพราะรัฐบาลไม่อาจแก้ไขพฤติกรรมอย่างนั้นได้ มิหนำซ้ำคณะบุคคลที่ทำการรัฐประหาร อาจจะประ พฤติซ้ำรอยกับบุคคลที่ถูกกล่าวอ้าง

และ 3.ควรตระหนักถึงคตินิยมที่ว่า "โกงไม่เป็นไรขอให้ทำงานได้ก็แล้วกัน" เป็นการส่งเสริมให้คนโกงมีความเหิมเกริม ก่อให้เกิดความวิบัติของสังคมการเมือง

"นักการเมืองไม่ควรปฏิเสธการถูกตรวจสอบจากสังคม ต้องกล้าที่จะยอมรับผิด ไม่เช่นนั้นรัฐประหารจะกลับมาอีก" ปกรณ์กล่าว

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ ด้านรัฐศาสตร์ กล่าวว่า ผู้ที่สนับสนุนการรัฐประหารหรือมองว่าเป็นเรื่องปกติจะมีพื้นที่พูดน้อยลง

แต่ความรู้สึกว่ารัฐประหารไม่ใช่เครื่องมือในการแก้ปัญหาทางการเมืองมีพื้นที่มากขึ้น เนื่องจากการรัฐประหาร 2549 จบลงด้วยการล้มเหลวก็ว่าได้ ทุกอย่างที่ประกาศไว้ว่าเป็นเหตุผลของการรัฐประหารจนถึงตอนนี้ยังไม่เกิดขึ้นเลย

"ความล้มเหลวของการรัฐประหาร 2549 คนเห็นตรงกัน แต่ถึงขั้นมองว่าการรัฐประหารเป็นเรื่องที่ผิดหรือเปล่ายังไม่แน่ คิดว่าการเกิดรัฐประหารอย่าง 2549 คงจะยากขึ้นแล้ว" ศิโรตม์กล่าว

ศิโรตม์ยังกล่าวอีกว่า ความคิดเห็นเรื่องประชาธิปไตยนั้นยังไม่ได้เติบโตขึ้นเท่าที่ควร อาจมีคนไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร แต่ก็ไม่ได้ยึดว่าประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่จะทำให้สังคมดีขึ้น

สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ พรรคเพื่อไทยคิดว่าการที่ประชาชนยอมรับในตอนนี้ เป็นผลมาจากการที่เขาไม่พอใจระบบการเมืองหลังปี 2549

"เพราะฉะนั้นรัฐบาลพรรคเพื่อไทยพยายามทำให้พรรคเป็นองค์กรที่ทำให้เกิดการปฏิรูปมากขึ้น ประชาชนก็ไม่ได้เลือกฝ่ายนี้โดยไม่มีเงื่อนไข แต่เลือกเพราะมีคาดความหวังที่อยากเห็นประชาธิปไตยอยู่ แต่พรรคเพื่อไทยดูจะไม่ได้สนใจเท่าไร" ศิโรตม์กล่าว

สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า สถานการณ์ของสังคมไทยก่อนและหลังเหตุการณ์รัฐประหารเป็นต้นมา เป็นช่วงความขัดแย้งทางการเมืองที่พยายามจะผูกขาดอำนาจ เป็นการต่อสู้ที่พยายามโค่นล้ม อีกฝ่าย เห็นได้จากสโลแกน ประเภท สงครามครั้งสุดท้าย และการใช้ความรุนแรงอย่างมาก พอถึงปัจจุบันสถานการณ์นี้ค่อยๆ เปลี่ยนไป

"สถาบันการเมืองเริ่มยอมรับว่าเป็นระบบที่มาจากการเลือกตั้งที่จะต้องมีอยู่ต่อไป รวมถึงการยอมรับในระบบคนเสื้อแดงที่จะต้องเกิดขึ้นมา

"เดิมคิดว่าถูกคนจ้างมา ตอนนี้เป็นกลุ่มพลังในสังคมที่ไม่อาจปฏิเสธได้" อาจารย์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ชี้

สมชายกล่าวว่า การเดินหน้าต่อไปของสังคมนั้นถือว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น เสียงที่สุดขั้ว ถูกทำให้เบาลง ทุกฝ่ายเดินเข้าหากัน อยู่ในช่วงต่อรองและรับรู้เข้าใจว่าจะรับได้บางส่วน

เช่น สถาบันทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งก็รู้ว่าได้รับระบบการเลือกตั้งแน่นอน ขณะเดียวกัน ในเมื่อยังไม่สามารถสถาปนาอำนาจนำทางการเมืองได้อย่างเต็มที่ก็ต้องยอมรับอำนาจบางอย่างที่มากำกับนักการเมืองอยู่ เช่นองค์กรอิสระ

"ผมมองว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงที่จะค่อยๆ เกิดขึ้น อีกทั้งการรัฐประหาร ปี 2549 ก็เป็นบทเรียนให้คนที่อยู่ในแวดวงทหารได้เรียนรู้ว่ายิ่งทำรัฐประหาร สถานะของทหารจะอยู่ได้ยากยิ่งขึ้น กระทั่งรัฐบาลที่มาภายหลังรัฐประหารได้หายไปจากความทรงจำของประชาชน

"หากรัฐประหารอีกครั้งจะต้องถูกคัดค้านแน่นอน ไม่ใช่เพียงคนเสื้อแดงเท่านั้น" สมชายกล่าวทิ้งท้าย

นั่นคือทรรศนะที่มีต่อประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของประเทศ อันเป็นการ "ก้าวพลาด" ครั้งใหญ่ที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันเก็บรับเป็นบทเรียน

เพื่อมิให้เกิดขึ้นอีก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น