วันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

บทวืเคราะห์การเมือง:ไทยโพสย์

แบล็กลิสต์ออกฤทธิ์ออกเดช เรื่อง "ไม่ด่วน" ของรัฐบาลปู
7 May 2555 - 00:00

ข้อกังวลของคณะทำงานภาคเอกชนเพื่อติดตามความคืบหน้าการออกกฎหมายและผลกระทบในการที่ไทยถูกขึ้นบัญชีโดยกลุ่มคณะทำงานเฉพาะกิจ เพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน (Financial Action Task Force on Money Laundering : FATF) ให้เป็นประเทศที่มีความบกพร่องเชิงยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบในทางปฏิบัติแล้วในวันนี้ ไม่เพียงบ่งชี้ถึงความไม่เอาจริงเอาจังของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องในการปลดพันธนาการที่เป็นภาพลักษณ์ในด้านลบต่อประเทศชาติบ้านเมือง แต่เป็นการตอกย้ำถึงวาระจัดตั้งของรัฐบาลที่มีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ว่า มีเป้าหมายเร่งรีบเร่งด่วนพาพี่ชายของตัวเองกลับบ้านโดยไม่ใส่ใจต่อระบบนิติรัฐ ด้วยการอ้างนโยบายการปรองดองแห่งชาติเป็นเครื่องมือบังหน้าเท่านั้น
   
ก่อนหน้านี้ภาคเอกชนได้ออกมาส่งสัญญาณเตือนรัฐบาลปู ถึงปัญหาที่ประเทศไทยถูก FATF จับตาและขึ้นบัญชีติดกลุ่มประเทศสีเทา ว่าจะส่งผลสะเทือนต่อภาพลักษณ์ประเทศและการค้าการลงทุนของภาคธุรกิจเอกชนไม่น้อย  ผ่านมากว่า 2 เดือน นายธวัชชัย ยงกิตติคุณ เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย ในประธานคณะทำงานภาคเอกชนเพื่อติดตามความคืบหน้าการออกกฎหมายและผลกระทบในการที่ไทยถูกปรับลดระดับตามเอฟเอทีเอฟ กระตุ้นเตือนอีกครั้งพร้อมกับเปิดเผยว่า ไทยได้เริ่มรับผลกระทบจากการจัดอยู่ในกลุ่มสีเทาแล้ว โดย มีสถาบันการเงินในต่างประเทศบางแห่งสั่งระงับการทำธุรกรรมกับไทย รวมทั้งยังมีสถาบันการเงินต่างประเทศบางแห่งเริ่มขอข้อมูลการทำธุรกรรมทางการเงินจากสถาบันการเงินไทยมากขึ้น รวมถึงการค้าขายระหว่างประเทศ ซึ่งผู้ค้าในต่างประเทศเริ่มไม่แน่ใจว่าควรส่งเงินเข้ามาชำระค่าสินค้าหรือไม่ ทั้งนี้ หากไทยยังไม่ถูกปลดออกจากกลุ่มบัญชีสีเทาภายในเดือน ก.พ.2556 ผลกระทบที่จะติดตามมาในอนาคต อาจเป็นไปได้ว่าคนไทยไม่สามารถใช้บัตรเครดิตในต่างประเทศได้ เพราะสถาบันการเงินในต่างประเทศไม่รับ
   
ประเด็นปัญหานี้ภาคเอกชนที่ต้องกระทำธุรกรรมกับต่างประเทศ ไม่ได้คิดเอง รู้สึกเอง เพราะอากาศร้อน หรือว่าเหตุการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา เหมือนกรณีปัญหาของชาวบ้านที่เดือดร้อนจากค่าครองชีพซึ่งทะลุพุ่งพรวดเป็นรายวัน หามาตรฐานความแน่นอนไม่ได้อย่างแน่นอน ฉะนั้น สถานภาพที่ประเทศไทยมีป้าย "แบล็กลิสต์" แปะหน้าผาก เมื่อติดต่อธุรกิจในต่างประเทศทั่วโลก จึงต้องถามหาความรับผิดชอบจากรัฐบาลโดยตรง และคงจะยอมรับไม่ได้อีกต่อไป หากรัฐบาลจะเล่นบทบาทถนัดเอาสีข้างเดินแบบลูกปูแม่ปู แล้วตั้งกำแพงเล่นสงครามน้ำลายเหมือนเล่นการเมืองในสภาว่า "FATF ไม่ใช่พ่อ" เพราะผลลัพธ์ของการมุ่งเน้นใช้อำนาจในฐานะฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติเสียงข้างมากในรัฐสภากอบโกย สร้างฐานอำนาจให้แก่พรรคพวก ผ่านกระบวนการชำเราแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนี้ เป็นต้นเหตุสำคัญ ทำให้รัฐบาลและรัฐสภาไม่มีเวลาไปใส่ใจกับปัญหาคอขาดบาดตายในมุมของเศรษฐกิจระดับชาตินั่นเอง
     
ถ้อยแถลงของพ.ต.อ.ดร.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2555 ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า คณะทำงานได้วางแนวทางเพื่อการปลดแอกแบล็กลิสต์ไว้แล้ว  4 ประการ ได้แก่ 1.ยกร่างกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย 2.แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน 3.เร่งรัดดำเนินการเพื่อให้สามารถประกาศใช้กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า และ 4.เร่งรัดปรับปรุงโครงสร้างและอัตรากำลังของสำนักงาน ปปง. ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ล้วนเป็นบริบทที่ฟ้องบอกได้อย่างดีว่า หากรัฐบาลไม่มัวแต่ยัดเยียดเวลาให้รัฐสภาไปดำเนินการเพื่อประโยชน์ส่วนตนของพรรคและพวกแล้ว ข้อกังขาของ FATF ต่อความไม่จริงใจของการแก้ปัญหาการก่อการร้ายและการฟอกเงิน ก็คงจะบรรเทาเบาบางและได้รับความเชื่อถือว่า ประเทศไทยมีความพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะให้ความร่วมมือเพื่อสันติสุขและความสงบของสังคมโลก
   
สัญญาณที่บอกเตือนจากภาคเอกชนในกรณีนี้ อาจจะไม่อยู่ในสายตาของรัฐบาลเฉพาะกิจที่มาเพื่อทวงคืนอำนาจให้กับผู้ได้ชื่อว่าเป็น "นายใหญ่" หรือนายกรัฐมนตรีตัวจริง แต่ประเด็นปัญหานี้จะเป็นเสมือน "ใบเสร็จ" ที่ประจานรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตราบนานเท่านานแน่นอน หากสุดท้ายประเทศไทยหนีไม่พ้นวังวนของแบล็กลิสต์ที่มีกำหนดเส้นตายในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 นอกจากนั้นยังจะเป็น ซตพ.ที่ตอกย้ำว่า ปูนิ่มคิดไม่เป็นว่าอะไรเป็นวาระเร่งด่วน  แยกแยะไม่ได้ว่า เพื่อชาติกับเพื่อไทยนั้น แตกต่างกันอย่างไร.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น