วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

บทความมติชน

จับตาสายสัมพันธ์ ทักษิณ-เสื้อแดง วันที่ "วาจา" เป็นพิษ
ขยายปมโดย  สม..มมร.

จะชอบ จะชัง จะเชื่อ จะติดสะดุดอยู่ หรือจะ (ประกาศว่า) ก้าวข้ามไปแล้วก็ตามที

แต่ความเป็นจริงประการหนึ่งที่ปฏิเสธมิได้ ก็คือน้ำหนักและบทบาททางการเมืองของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่หลายคนเชื่อว่ายังคงเล่นบท "นายกรัฐมนตรีเงา" ของรัฐบาลชุดนี้

ไม่ธรรมดา

การ "โฟนอิน" พิสูจน์ความจริงข้อนี้อีกครั้ง

เมื่อหลังโฟนอินแล้วมีเสียงสะท้อนจากคนเสื้อแดงบางกลุ่มว่า

"ทักษิณทิ้งเสื้อแดง-ทักษิณหลอกเสื้อแดง"

และตามติดๆ คือ การตอกลิ่ม หรือ "เสี้ยม" ของฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับ พ.ต.ท.ทักษิณและกลุ่มคนเสื้อแดง

ให้แผลเล็กขยายเป็นแผลใหญ่ หรือดีที่สุดคือกลับมาเย็บกันไม่ติดอีก

นำมาซึ่งปฏิกิริยาหลากหลาย

เริ่มต้นด้วยวาทะเจ้าปัญหาเมื่อคืนวันที่ 19 พฤษภาคม 2555

"เรื่องคดีฝ่ายประชาธิปไตยต้องอดทนกับขั้นตอนกติกา แม้ต้องใช้เวลา

"วันนี้เดินมาสุดทาง เหมือนพี่น้องขับเรือพาตนมาถึงฝั่ง ต่อไปเป็นการขึ้นเขา ซึ่งต้องขึ้นรถไป ไม่จำเป็นต้องแบกเรือมาส่งบนเขา บางอย่างเรื่องส่วนตัวต้องมองข้ามไปบ้าง จึงขอความเข้าใจและเสียสละจากคนเสื้อแดง

"หากมีการปรองดองก็มีโอกาสกลับไปตอบแทนบุญคุณพี่น้อง"

มาเร็วและแรงจากประเทศอังกฤษ ก็คือนักวิชาการที่แดงทั้งตัวและหัวใจอย่างนายใจ อึ๊งภากรณ์

"ทักษิณกำลังอาศัยอีโก้ของตนเองเพื่อบิดเบือนประวัติศาสตร์คนเสื้อแดงอย่างรุนแรง

"เพราะถึงคนเสื้อแดงส่วนใหญ่จะรักทักษิณ แต่คนเสื้อแดงไม่ได้ออกมาสู้กับทหารและประชาธิปัตย์เพื่อทักษิณ เขาออกมาสู้เพื่อให้เขามีสิทธิเสรีภาพที่จะเลือกรัฐบาลที่ตนเองต้องการโดยไม่มีการแทรกแซงจากทหารหรือคนอื่นๆ

"เขาออกมาสู้เพื่อให้มีเสรีภาพในการพูด เขียน และแสดงความเห็น สู้เพื่อให้ตนเองดำรงอยู่ในสังคมที่มีความเป็นธรรม ทั้งทางเศรษฐกิจและทางกฎหมาย

"เป็นความต้องการที่จะมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แทนการเป็นไพร่"

เป็นปฏิกิริยาเดียวกับคนเสื้อแดงที่อยู่ใกล้ที่เกิดเหตุมากกว่า อย่างสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ "บ.ก.ลายจุด" ผู้ยืนหยัดทำกิจกรรมการเมืองแม้จะมีการปราบปรามประชาชนไปแล้ว

"พ.ต.ท.ทักษิณไม่เข้าใจว่าข้อเรียกร้องของประชาชนไปไกลเกินตัวเขามากแล้ว แม้ประชาชนส่วนใหญ่ชื่นชมเขา แต่ก็ชื่นชมในฐานะอดีตนายกฯ

"เขาไม่ใช่เงื่อนไขและไม่ใช่แกนนำในการเรียกร้องประชาธิปไตย ที่ พ.ต.ท.ทักษิณพูดว่าให้ประชาชนลืมเพื่อให้เกิดความปรองดอง เป็นเรื่องที่ไม่ควรพูดและเป็นการมาผิดเวที

"การรำลึก 19 พ.ค. 2553 เป็นเวทีที่ประชาชนเกิดความสูญเสีย ไม่ใช่ถูกทำรัฐประหารเหมือน 19 ก.ย. 2549

"ผมไม่เคยคิดว่าคนเสื้อแดงพายเรือมาส่ง พ.ต.ท.ทักษิณให้ถึงฝั่ง แต่คิดว่า พ.ต.ท.ทักษิณกระโดดขึ้นรถไฟประชาธิปไตยมาด้วยกัน

"หาก พ.ต.ท.ทักษิณต้องการกระโดดลงก่อนประชาชนก็ไม่ว่า"

ร้อนถึงคนใกล้ตัวอดีตนายกรัฐมนตรีอย่างนพดล ปัทมะ ผู้ตอบโต้พรรคประชาธิปัตย์ที่ระบุว่า เป็นการเสี้ยมเป็นกลยุทธ์ที่พยายามทำแต่ไร้ผลมาตลอด

"ที่คนเสื้อแดงหลายพันต้องบาดเจ็บ และร่วมร้อยล้มตายเกิดขึ้นสมัยพรรคประชาธิปัตย์บริหารประเทศหรือไม่ พ.ต.ท.ทักษิณไม่เคยมองประชาชนโดยเฉพาะคนเสื้อแดงเป็นเครื่องมือทางการเมือง แต่ถือว่าเป็นผู้ร่วมอุดมการณ์ ที่มีเป้าหมายเดียวกัน

"คือบ้านเมืองที่มีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง"

และแดงด้วยกันอย่างณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่วันนี้เป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์ ยังต้องรับรองว่า

"อยากจะขอให้คนเสื้อแดงมั่นใจว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่มีทางที่จะทิ้งพี่น้องคนเสื้อแดงอย่างแน่นอน

"เพราะตั้งแต่รู้จักกันมา ไม่เคยเห็น พ.ต.ท.ทักษิณทิ้งเพื่อนหรือมิตรที่เคยต่อสู้ร่วมกัน"

ทั้งปฏิกิริยาและคำอธิบาย สะท้อนให้เห็นว่าความสัมพันธ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณกับคนเสื้อแดงจะพัฒนาต่อไปอย่างไร ไม่ได้ขึ้นกับแรงเสี้ยมจากใครที่ไหน

แต่ขึ้นกับจุดยืนและท่าทีของ พ.ต.ท.ทักษิณเองเป็นด้านหลัก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น