วันพุธที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2557

‘ปู’พ่ายสันติภิวัฒน์ ธีรยุทธชี้ระบอบทักษิณทรุดแนะ‘กปปส.’มุง่ มั่น-ยืนหยัด

“ธีรยุทธ” ถลกแม้วไม่ใช่นักประชาธิปไตย แต่เป็นอนาธิปไตยที่ใช้อำนาจรัฐเป็นเครื่องมือคอร์รัปชัน เปรียบเหมือนแร้งดำหิมาลัยที่มองไกลหาผลประโยชน์ กินทั้งเนื้อดิบ เนื้อเน่า เนื้อปรุง ชี้ “ยิ่งลักษณ์” โอกาสชนะน้อยมาก เพราะระบอบทักษิณเสื่อม กลับกลอกคำพูด และลิ่วล้อสุมหัวโกงกินจากโครงการต่างๆ ชูปฏิวัติแบบใหม่ “สันติภิวัฒน์” มวลมหาประชาชนต้องมุ่งมั่นแบบเหนือมนุษย์ยืนหยัดต่อสู้ต่อไป แนะแกนนำ กปปส.ต้องไม่มีตำแหน่งในสภาปฏิรูป ให้เป็นหมาเฝ้าบ้านที่ทรงพลังก็พอ พร้อมประกาศตัวขอเป็นส่วนหนึ่งกับมวลมหาประชาชน เมื่อวันพุธ ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นายธีรยุทธ บุญมี ผู้อำนวยการสถาบันสัญญาธรรมศักดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะนักวิชาการอิสระ และนักวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมือง ได้แถลงเรื่อง “สุดท้ายของระบอบทักษิณ สร้างรากฐานใหม่ให้ประเทศไทย?” นายธีรยุทธกล่าวว่า สาเหตุที่มีผู้ออกมาชุมนุมเป็นจำนวนมากในครั้งนี้ เพราะมีกระแสปฏิรูปออกมาอย่างต่อเนื่อง จากการที่คนถูกกดเป็นเวลานาน จากปัญหาคอร์รัปชันและการใช้อำนาจโดยไม่ชอบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่นักประชาธิปไตย แต่เป็นอนาธิปไตย ที่ใช้อำนาจรัฐเป็นเครื่องมือ การคอร์รัปชันแพร่ไปในทุกวงการ รื้อเส้นแบ่งอธิปไตยของชาติ ทำลายผลประโยชน์ชาติเพื่อประโยชน์ตัวเอง เช่น แก้กฎหมายเกี่ยวกับดาวเทียมรัฐเพื่อให้ขายบริษัทได้ ตกลงให้เงินกู้พม่าเพื่อประโยชน์ตัวเอง ทำลายห่วงโซ่ระบบยุติธรรมในส่วนของตำรวจ อัยการ “ผมคิดว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่กังวลหากจะเกิดความรุนแรงในประเทศไทย ไม่กังวลว่าประเทศจะมีวิกฤติ มีสภาพโกลาหล หรือจะมีการปะทะระหว่างคนไทยด้วยกันหรือไม่ ครั้งที่แล้วผมบอกว่าระบอบทักษิณไม่ต่างฝูงแร้งมาสมจร แต่ตัวทักษิณเองต้องเรียกว่าเป็นพญาแร้งดำหิมาลัย มีสายตาที่มองไกลหาผลประโยชน์ โกงกิน กินได้ทั้งเนื้อดิบ เนื้อเน่า เนื้อปรุง ต่อให้ประเทศเศรษฐกิจดีก็กินได้ ประเทศพังทลายก็กินได้” นายธีรยุทธระบุ นายธีรยุทธกล่าวต่อว่า ปัจจุบันคนในสังคมมีความแตกต่างทางความคิด คือพรรคเพื่อไทยเชื่อประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมคลาสสิก ที่ทุกคนมีความเท่าเทียมกันในการเลือกตั้ง ทุกคนคิดอย่างดี การใช้สิทธิ ทำให้เชื่อว่าเมื่อเลือกตั้งแล้วทุกอย่างจะดีหมด เช่นเดียวกับประเทศอังกฤษ ที่ก่อนหน้านี้ยึดถือความคิดดังกล่าว จึงทำให้อำนาจสูงสุดเป็นของสภา ที่จะออกกฎหมายอะไรก็ได้ หลักศีลธรรมสำคัญน้อยกว่าหลักความเท่าเทียมกัน แต่ปัจจุบันก็ยอมให้อำนาจตุลาการเข้ามาตรวจสอบได้ แต่พรรคเพื่อไทยยังไม่ยินยอม จึงเชื่อว่าสามารถออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอยได้ ผู้อำนวยการสถาบันสัญญาธรรมศักดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ขณะที่กลุ่ม กปปส.มองปัญหาได้ลึกกว่าพรรคเพื่อไทย โดยแยกชีวิตและการเมืองออกเป็น 2 ระดับ คือ กลไกการเมือง เช่นการเลือกตั้งเพื่อให้มีรัฐบาลและระดับแก่น ซึ่งเป็นชีวิตและจิตวิญญาณของการเมือง คือตัวประชาชนรวมกับประเทศที่มองว่าหากรัฐหรือประชาคมทำงานได้ดีก็จะค้ำประกันชีวิตและทรัพย์สิน แต่ถ้ารัฐพังทลาย ปัญหาร้ายแรงก็จะตามมา พวกเขาจึงต้องปฏิรูปในตัวโครงสร้างรัฐ เพื่อรักษาทรัพย์สิน ชีวิต ตัวเองและลูกหลานให้พ้นจากภัยคุกคามของการคอร์รัปชัน นายธีรยุทธพูดถึงเรื่อง 1 คน 1 หรือ “Respect My Vote” เสียง ว่าเป็นสิ่งที่ละเมิดไม่ได้ แต่หากรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งมามีการโกงกินก็ย่อมถูกล้มล้างได้ ผู้ที่คัดค้านการเลือกตั้งโดยโหวตโน หรือไม่ไปลงคะแนนเสียง ก็ถือเป็นสิทธิ แต่ถ้าไปขัดขวางการเลือกตั้ง ก็ต้องยอมรับว่าทำในสิ่งที่ผิดกฎหมาย และอยากถามกลับคนที่ออกมาเรียกร้องให้คนอื่นเคารพสิทธิของตัวเอง ว่าคนเหล่านี้เคารพสิทธิของตัวเขาเองหรือไม่ “เพราะ 2 ปีที่ผ่านมา พ.ต.ท.ทักษิณได้ใช้สิทธิของคนเหล่านี้ในการบงการรัฐบาลอย่างเปิดเผย รวมทั้งมีการนำไปสู่การคอร์รัปชัน แต่ก็ไม่เคย มีใครออกมาเรียกร้องแต่อย่างใด และการชุมนุมในครั้งนี้ก็เป็นครั้งแรกที่ประชาชนออกมาพูดถึงการเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ทั้งที่ไม่เคยมีมาก่อน ทำให้เห็นได้ว่าคนไทยเข้าใจเรื่องสิทธิของตัวเองมากขึ้น” นายธีรยุทธ กล่าว นักวิชาการผู้นี้วิเคราะห์ในประเด็น “วิกฤติการเมืองของไทยจะจบอย่างไร จะกลายเป็นสันติภิวัฒน์ หรือจะก้าวสู่ระบอบทักษิณโดยสมบูรณ์นั้น” ว่าการแก้วิกฤติโดยวิเคราะห์ผ่านการตระหนักอำนาจสูงสุดของประชาชน ซึ่งหากปัญหาทางการเมืองขณะนี้โดยเฉพาะการอารยะขัดขืนทวงคืนอำนาจอธิปไตย หรือที่เรียกว่า “สันติภิวัฒน์” หากประชาชนพ่ายแพ้ อาจทำให้เสียสิทธิต่างๆ ของการเป็นพลเมืองตามรัฐธรรมนูญ กลายเป็นชีวิตเปล่าๆ ที่รัฐหรือเสียงส่วนใหญ่จะสามารถจำคุกหรือประหารชีวิตก็ได้ เขากล่าวว่า การปฏิวัติแบบใหม่คือ “สันติภิวัฒน์” ที่เกือบทุกสาขาอาชีพในประเทศขณะนี้ เช่น กรรมกร ภาคเอกชน ข้าราชการ ทหาร นักวิชาการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ ซึ่งถ้าเป็นไปได้ หากมีนโยบายดีๆ จนเป็นฉันทามติหรือประชามติกดดันให้เกิดการแก้กฎหมายเปลี่ยนโครงสร้าง ทำลายห่วงโซ่ปมปัญหา แต่ตนก็ยอมรับว่า การปฏิวัติทุกประเทศในโลก ไม่ใช่เสียงทั้งหมดของประชาชน แต่เป็นเสียงของประชาชนมากที่สุดเท่าที่เป็นได้ “หากทหารออกมารัฐประหาร สถาปนาตัวเอง หรือกลุ่มชนชั้นนำขึ้นเป็นอำนาจอธิปัตย์แล้วร่างรัฐธรรมนูญใหม่ กรณีนี้มองว่าหากเกิดขึ้นจริง ทั้งสองฝ่าย เสื้อเหลือง และแดง ก็จะออกมากดดันการกระทำนี้” นักวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมือง ชี้ว่าโอกาสที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะชนะมีน้อยมาก เพราะระบอบทักษิณเริ่มเสื่อมลง เพราะการกลับกลอกผิดคำพูดครั้งแล้วครั้งเล่า แม้แต่กับผู้สนับสนุน อีกทั้งประชานิยมของทักษิณเป็น “ประชาซาเล้ง ซึ่งมี 3 ระดับ ต้นน้ำ คือแกนนำ ได้ประโยชน์หลักจากตัวโครงการต่างๆ กลางน้ำ คือรุ่นลิ่วล้อทักษิณ ขโมยตัดเหล็ก ทองเหลือง ทองแดง สายไฟ ของโครงการเอาไปขาย ปลายน้ำ คือชาวบ้านรากหญ้า ได้เพียงเศษเหล็กเศษพลาสติกที่เหลือใส่ซาเล้งถีบไปขาย ประเทศจะได้เพียงซากของโครงการ และวิกฤติครั้งนี้ทักษิณต้องอาศัยนักวิชาการ แกนนำเสื้อแดง นปช. ส.ส. อย่างขาดไม่ได้ โครงสร้างอำนาจของเพื่อไทยในอนาคตจะเปลี่ยนไป จำเป็นต้องแบ่งปันอำนาจกับกลุ่มเหล่านี้มากขึ้น ส่วนมวลมหาประชาชน ก็อาจจะไม่ได้รับชัยชนะแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพราะจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นนำทางเศรษฐกิจของไทย เนื่องจากคนเหล่านั้นไม่มีความกล้าพอที่จะเป็นผู้ริเริ่มการเปลี่ยนแปลงระดับปฏิรูป หรือปฏิวัติด้วยตนเอง นายธีรยุทธเสนอมวลมหาประชาชนคือ 1.มวลมหาประชาชนต้องใช้ความมุ่งมั่นแบบเหนือมนุษย์ ยืนหยัดต่อสู้อย่างสันติต่อไป และขยายผู้สนับสนุนจากชาวบ้าน ชาวรากหญ้าต่างจังหวัดมากขึ้น 2.กลุ่มแกนนำ กปปส. จะต้องประกาศให้ชัดเจนว่าจะไม่มีแกนนำคนใดรับตำแหน่ง หากการปฏิรูปโดยประชาชนสำเร็จเสร็จสิ้น และต้องไม่ขอมีส่วนร่วมไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบโควตาคณะกรรมการ สมัชชา หรือสภาปฏิรูปประชาชน แต่ขอเพียงสิทธิที่จะคอยตรวจสอบเป็นหมาเฝ้าบ้านที่ทรงพลัง เพื่อกันไม่ให้พวกระบบเก่าแฝงเข้ามาทำลายกระบวนการปฏิรูปก็พอ “ยุทธศาสตร์การต่อสู้ของมวลมหาประชาชนอาจเรียกเป็นทฤษฎีมะม่วงหล่น คือการใช้ความอดทนที่ยาวนาน คือรอให้ผลไม้หล่นมาเอง ซึ่งดูเป็นการเรียกร้องที่เกินขีดความสามารถของมนุษย์ แต่หากเกิดขึ้นได้แม้โลกทั้งโลก ก็คงจะประหลาดใจและนับถือความมหัศจรรย์ของมวลมหาประชาชนไทย ทั้งนี้ ผมไม่ใช่ กกปส. แต่ขอสนับสนุน และขอเป็นส่วนหนึ่งใน “สันติภิวัฒน์” ของมวลมหาประชาชนครั้งนี้” นายธีรยุทธ กล่าว (อ่านรายละเอียดหน้า 4) ผู้สื่อข่าวถามว่า เห็นด้วยกับการเลือกตั้งหรือไม่ นายธีรยุทธกล่าวว่า ตนเคารพการเลือกตั้ง แต่ไม่ขอมีความเห็นโดยตรงเกี่ยวกับการแก้ปัญหาย่อย ที่เกิดขึ้นมาและกลายเป็นเรื่องถกเถียงกัน ตนมีความรู้สึกว่ามันนำเราไปผิดทาง ซึ่งปัญหาตอนนี้คือเรื่องคอร์รัปชันนั้นใหญ่มาก กำแพงศีลธรรมก็พังทลาย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก ตนจึงขอไม่ร่วมถกเถียงว่าจะมีการเลือกตั้งหรือไม่ หรือจะเลือกหรือไม่เลือกดี ตนไม่ชอบว่าใช้มาตรานั้นมาตรานี้มาแก้ปัญหา เป็นเพียงการหาช่องเล็กน้อยที่จะคลี่คลาย เมื่อถามว่า ปัญหาคอรัปชั่นสามารถจัดการด้วยการเมืองระบบปกติหรือไม่ นายธีรยุทธกล่าวว่า ไม่ได้เพราะตอนนี้พิสูจน์แล้วว่าระบบเลือกตั้งที่ใช้ประชานิยมแบบที่ผ่านมาแก้รากเหง้าของคอร์รัปชันไม่ได้.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น