วันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2555

บทวิเคราะห์ไทยโพสต์

แผนน้ำ3แสนล้านจุดสลบรัฐบาลยิ่งลักษณ์
  • 20 สิงหาคม 2555
ผลกระทบจากเหตุการณ์มหาอุทกภัยปีที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลทำงานภายใต้ความคาดหวังของสังคมว่าจะแก้ปัญหาการจัดการน้ำทั้งระบบ เพื่อลบภาพความล้มเหลวที่เคยเกิดขึ้น ทั้งเรื่องความพร้อมของโครงสร้างในการรับมือน้ำ ไปจนถึงโครงสร้างการบริหารจัดการในภาพรวม จนเป็นที่มาของการตั้งคณะกรรมการหลายชุด
ไม่ว่าจะเป็น กรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.)ที่ดึงเอารุ่นใหญ่อย่าง สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา มาเป็นที่ปรึกษา หรือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ที่ดึงเอา วีรพงษ์ รามางกูร มาเป็นที่ปรึกษา
ตามมาด้วยการตั้งคณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.) ซึ่งมีสุเมธเป็นที่ปรึกษาเช่นกัน และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธานเอง โดยนำข้อเสนอเรื่องน้ำทั้งหมดจาก กยน. ส่งไม้ต่อให้ ปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประธานกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ที่เพิ่งตั้งขึ้นพร้อมกับ กนอช.ยึดอำนาจเด็ดขาด ผูกการจัดการน้ำทั้งหมด
ทั้งนี้ มีหน่วยงานลูก ได้แก่ สำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) เป็นนิติบุคคลในการทำงาน ยึดสภาพการทำงานกรมชลประทานโดยสมบูรณ์แบบ ภายใต้งบประมาณมหาศาลกว่า3 แสนล้านบาท
ในเวลานั้น แม้ กยน.จะมีผู้เชี่ยวชาญเสนอแนวคิดต่างๆ มากมาย แต่พอถึงขั้นตอนปฏิบัติการ ภายใต้การกุมบังเหียนของปลอดประสพกลับยังไม่มีรูปแบบชัดเจนว่าจะเดินต่ออย่างไร ขณะเดียวกันงบประมาณกว่า 3 แสนล้านบาทก็โดนกลุ่มการเมืองรุมทึ้งไม่เว้นแต่ละวัน
จนในที่สุด กบอ.ก็ตัดสินใจเปิดประมูลทีโออาร์บริหารจัดการน้ำและอุทกภัยทั้งระบบ มูลค่า 3 แสนล้านบาท เพื่อระดมความคิดไปสู่การปฏิบัติจริง โดยให้กิจการร่วมค้าทั้งไทยและต่างชาติมาร่วมกันเสนอความคิดในการแก้ปัญหาน้ำทั้งระบบ ภายใต้ 8 หัวข้อ ไล่ตั้งแต่การฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าและดิน การสร้างอ่างเก็บน้ำ การจัดทำผังการใช้ที่ดิน การปรับปรุงพื้นที่เกษตรชลประทาน การปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลัก การจัดทำทางน้ำหลาก (ฟลัดเวย์) การปรับปรุงระบบคลังข้อมูล การปรับปรุงองค์กรจัดการน้ำ

ทั้งนี้ ให้เวลา 1 เดือนในการยื่นโครงการ และจะตัดสินบริษัทที่ได้รับงานในวันที่ 31 ม.ค. 2555
ที่น่าสนใจก็คือ ในกรอบแนวคิดฉบับนี้มีโครงการอย่างเขื่อนแม่วงก์ หรือเขื่อนแก่งเสือเต้น ที่มีปัญหามานานกว่า 20 ปี บรรจุเข้าไปด้วย โดยมีรายละเอียดคร่าวๆ เพียงงบประมาณและพื้นที่ที่ก่อสร้างเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม พื้นที่ฟลัดเวย์ อ่างเก็บน้ำ หรือการฟื้นฟูป่า กลับไม่ได้ระบุพื้นที่ชัดเจน และไม่มีแม้แต่การศึกษาความเหมาะสม ความเป็นไปได้ หรือผลกระทบจากชุมชนรอบข้างแต่อย่างใด ขณะเดียวกัน กบอ.ก็เลือกให้บริษัทที่เข้ามาออกแบบและก่อสร้าง (ดีไซน์แอนด์บิลด์) ในคราวเดียวกัน ทั้งที่มีงบประมาณมากกว่า 3 แสนล้านบาท รอให้บริษัทไทยและต่างชาติเข้ามาร่วมสังฆกรรม
ในที่สุดโครงการก็ถูกดาหน้าถล่มจากองค์กรวิชาชีพ อย่างวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) และสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย เนื่องจากกบอ. กำหนดว่าบริษัทที่เข้ารับการประมูล ต้องเคยทำโครงการของรัฐมาแล้ว ในมูลค่าไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท หรือถ้าเป็นกิจการร่วมค้า ต้องทำโครงการไม่ต่ำกว่าบริษัทละ 2,000 ล้านบาท ทำให้ตัดโอกาสที่บริษัทไทยส่วนใหญ่จะเข้าแบ่งเค้กด้วยไปโดยปริยาย
ขณะเดียวกันก็โดนก๊อกสองเข้าอีก เมื่อต่อตระกูล ยมนาค ประธานกลุ่มวิศวกรเพื่อชาติ นำบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีนออกมาแฉว่าทั้งสองเคยทำเอ็มโอยูร่วมกัน โดยไทยเปิดโอกาสให้รัฐบาลจีนเข้ามาวางระบบบริหารลุ่มน้ำอย่างละเอียด ตั้งแต่เดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว ทั้งที่รัฐบาลเพิ่งจะเปิดการประมูลในวันที่ 24 ก.ค.ปีนี้ และยืนยันว่าจะให้บริษัทต่างชาติได้รับโอกาสเท่าเทียมกันในการประมูลโครงการ
...ท่ามกลางเสียงร่ำลือว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของจีน ที่คว้างานสร้างเขื่อนในภูมิภาคอาเซียนหลายเขื่อน กำลังแต่งตัวรอรับงานวางระบบน้ำในไทยอยู่
แม้เสียงวิจารณ์ของบริษัทในไทยจะไม่เล็ดลอดออกมามากนัก แต่บริษัทต่างชาติที่ตั้งใจจะเข้าร่วมโครงการนี้กลับส่ายหัว เพราะไม่มีข้อมูลโครงการต่างๆ เท่ากับบริษัทจีน
เมื่อโดนหนักเข้า ในที่สุด กบอ.ก็ออกมาแก้เกี้ยวด้วยการปรับลดวงเงินให้เหลือ 10% ของแต่ละโครงการแทน และให้ขยายเวลาจากที่ต้องยื่นข้อเสนอภายในวันที่ 24 ส.ค. เป็นวันที่ 24 ก.ย.
กระนั้นเอง ข้อสงสัยเรื่องการออกแบบและก่อสร้างที่อาจเอื้อให้เกิดการทุจริตก็ยังคงอยู่ ไม่ต่างจากเสียงที่ต้องการให้มีการศึกษา และจัดลำดับความสำคัญว่าจะทำอะไรก่อนหลัง พลันนั้นเองก็มีเสียงตัดพ้อจากกรมชลประทานดังขึ้นมาใหม่เพิ่มอีกหน่วยงานหนึ่ง
ส่วนราชการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำ โดยเฉพาะกรมชลประทานถูกทำลายลงและจำกัดเสียงทั้งหมด ไม่กล้าเสนอแนะอะไร พูดอยู่คำเดียวว่า ท่านรัฐมนตรีจะเอาอย่างไรก็เอา หรือแม้กระทั่งท่านธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ ก็ยังไม่กล้าพูดข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับน้ำ โดยบอกว่าอยู่ที่ กบอ. น่าเป็นห่วงว่าจะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การจัดการได้อย่างไรคือคำตัดพ้อของ ปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน และกรรมการ กยน. เมื่อวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา
สอดรับกับเสียงของ บรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งรับหน้าเสื่อดูแลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ออกมาระบุว่า งบประมาณกรมชลประทานประจำปี 2556 ถูกตัดลงเพียบ จากที่ตั้งไว้ 4.8 หมื่นล้านบาท กลับเหลือเพียง 3 หมื่นล้านบาท โดยส่วนที่หายไปนั้นผู้ใหญ่ในรัฐบาลอ้างว่าควรไปอยู่ในทีโออาร์ 3 แสนล้านบาท
ทำให้บรรหารกังวลว่า กว่าโครงการของกบอ.จะเริ่มต้นและทำให้เห็นผลได้ จะต้องใช้เวลาอีกนานหลายปี และทำให้ประเทศไทยยังคงเสี่ยงกับเหตุการณ์น้ำท่วมในอีก 12 ปีข้างหน้า
ไม่ว่าเสียงเตือนของบรรหารจะมาจากความจริงใจ หรือมีวาระแอบแฝง แต่ก็คือเสียงที่ตรงกับข้าราชการส่วนใหญ่ในกรมชลประทาน วสท. นักวิชาการด้านน้ำ คณะกรรมการ กยน. หรือแม้แต่เครือข่ายต้านคอร์รัปชั่น ที่รอให้รัฐบาลออกมาสางปมร้อนนี้ให้ได้ เพราะหากปล่อยให้มีบริษัทที่ได้รับการประมูลได้โครงการไป ก็ยังไม่มีอนาคตว่าระบบน้ำของประเทศจะมีรูปร่างเป็นอย่างไร
หลายคนถึงกับตั้งข้อสังเกตว่า ดีไม่ดี โครงการน้ำที่หวังจะเชิดหน้าชูตาประเทศชิ้นนี้ อาจเป็นซากปรักหักพังมูลค่ามหาศาล มากกว่าอนุสาวรีย์คอนกรีตของโครงการโฮปเวลล์เสียด้วยซ้ำ
ไม่นับว่ามีอีกหลายบริษัทและองค์กรประชาสังคมที่รอฟ้องศาลปกครอง หากโครงการที่ออกมาจากบริษัทเหล่านี้ไปกระทบกับสิ่งแวดล้อมและสิทธิของชุมชน
กลายเป็นว่าผลงานที่รัฐบาลคาดหวังจะเป็นตัวชูโรงอย่างการแก้ปัญหาน้ำทั้งระบบ กลับกลายเป็นนโยบายที่ถูกตั้งคำถามมากที่สุด เพราะฉะนั้น หากไม่กลับไปตั้งหลักด้วยการทบทวน ศึกษาความเป็นไปได้ และจัดลำดับความสำคัญของแต่ละโครงการอย่างละเอียดอีกครั้ง ซึ่งหากไม่หัดรับฟังผู้มีประสบการณ์บ้าง ก็หนีไม่พ้นความหายนะของโครงการในอนาคต
ดีไม่ดีประเทศไทยอาจต้องเผชิญวิบากกรรมน้ำท่วมเช่นปี 2554 อีกครั้ง และมีซากปรักหักพังเรี่ยราดไว้ให้คนไทยคอยตามเช็ด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น