วันอังคารที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2555

บทวิเคราะห์ข่าวสด


หลากมุมมอง'สัญญาณพลิกขั้ว'
รายงานพิเศษ...ขยายปมโดยสม  มมร.
แม้เป็นช่วงปิดสมัยประชุมสภา แต่ความร้อนแรงของประเด็นการเมืองนอกจากไม่ลดดีกรี ยังมีแนวโน้มร้อนระอุขึ้นเรื่อยๆ



คนในรัฐบาลกำลังมีเรื่องมีราวจากหลายคดี อาทิ คดีปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทยที่อัยการสูงสุดสั่งฟ้องพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร, คดีที่ดินอัลไพน์ที่ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย สมัยเป็นรักษาการปลัด กระทรวงมหาดไทย



ก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญก็สอยนายจตุพร พรหมพันธุ์ พ้นส.ส. ล่าสุดกกต.เพิ่งชักใบแดงนายการุณ โหสกุล ส.ส.กทม.ของพรรคเพื่อไทย ไม่นับรวมกรณีศาลรัฐธรรมนูญสั่งชะลอโหวตร่างรัฐธรรมนูญ และเรื่องฝ่ายค้านตามจิกสนามบินอู่ตะเภา ผสมโรงข่าวปล่อยทาบพรรคประชาธิปัตย์ร่วมรัฐบาล



การเมืองส่อเข้าสู่จุดอันตรายจนเริ่มมีเสียงพูดถึง 'รัฐบาลเทพประทาน 2' อีกรอบ



นักวิชาการและผู้ติดตามสถานการณ์การเมืองแสดงความเห็นต่อสัญญาณพลิกขั้วไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้



สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล

ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา



ประเด็นการเมืองที่เกิดขึ้นต่างๆ นานาช่วงนี้ เพราะเป็นช่วงปิดประชุมสภา อีกทั้งมีบอลยูโรเข้ามาอีก ไม่ว่าฝ่ายค้านหรือใครก็ต้องหาประเด็นข่าวขึ้นมาเล่น



โดยเฉพาะประเด็นที่ถ้าจุดขึ้นมาแล้ว ต้องเป็นข่าวกระตุกอารมณ์คนได้มากพอสมควร หยิบยกขึ้นมาเพื่อให้เป็นประเด็น ที่พูดติดปาก พูดกันทั้งบ้านทั้งเมือง



ถือเป็นการแข่งกันในทางข่าว ดังนั้นประเด็นอะไรที่เกิดขึ้นไม่ได้ก็มักจะเกิดขึ้นมาได้ทั้งนั้น ขอให้จุดติด คนพูดถึงเยอะๆ ก็พอ



กระแสข่าวรัฐบาลเทพประทาน 2 เป็นไปไม่ได้ ไม่มีอุบัติเหตุทางการเมืองใดๆ อีกทั้งประเด็นการเมืองแต่ละเรื่องไม่ได้เกี่ยวโยงไปให้เป็นประเด็นใหญ่



ดังนั้นไม่มีผลกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาล ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้



อย่างไรก็ตาม กรณีมีโหรทำนายว่าช่วงปลายเดือนส.ค. จะมีอุบัติเหตุทางการเมืองนั้น ผมเห็นว่าเวลาโหรพูดทีไรก็เป็นโหนทุกที



สำหรับท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาลตอนนี้ เราทำงานกันอย่างเต็มกำลัง พรรคชาติไทยพัฒนาดูแลกระทรวงที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรฯ ขณะนี้ต้องมุ่งไปที่เรื่องบริหารจัดการน้ำ



นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ ปรึกษาหัวหน้าพรรค ติดตามงานของกรมชล ประทานอย่างสม่ำเสมอ





สมชาย ปรีชาศิลปกุล

นิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่



ตอนนี้เป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีการพลิกขั้ว ต่อให้พรรคประ ชาธิปัตย์ไปรวมกับพรรคร่วมรัฐบาลตั้งรัฐบาลเทพประทาน 2 เหมือนเมื่อครั้งที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตั้งรัฐบาลในค่ายทหารเมื่อปี 2551 ก็ยากที่จะเกิด



เพราะคะแนนเสียงของพรรคเพื่อไทย เมื่อเทียบกับพรรคพลังประชาชนในขณะนั้นแตกต่างกัน



พรรคพลังประชาชนมีคะแนนเสียงในสภาไม่ถึงครึ่งหนึ่ง แต่พรรคเพื่อไทยขณะนี้มีจำนวนส.ส.ในมือเกินครึ่ง จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเกิดเหตุการณ์อย่างนั้นอีก



นอกเสียจากเกิดการแตกแยกกันเองภายในพรรคเพื่อไทย



อย่างไรก็ตามหากรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเผชิญกับปัญหาภายนอกและการต่อต้านมหาศาลอย่างต่อเนื่อง ยังสามารถเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากในสภาได้



ส่วนการต่อต้านจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเหมือนสมัยรัฐบาลทักษิณหรือไม่นั้น อาจเกิดได้ในหลายรูปแบบ ทั้งการยุบสภาซึ่งกรณีนี้คงเกิดยาก และการปรับครม. เพื่อให้กุมอำนาจในพรรคมากขึ้น



ฉะนั้นถ้าจะเกิด คงเป็นการเปลี่ยนแปลงในซีกเดียวกันมากกว่า



เรื่องอำนาจพิเศษ เช่น กระบวนการตุลาการภิวัฒน์ ถ้าเข้ามาเกี่ยวข้องกับฝ่ายการเมืองก็อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนขั้วได้ แต่หากใช้อำนาจถึงขนาดนั้นวุ่นวายแน่นอน



เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เป็นไปตามกลไกของระบบ ครั้งนี้คงไม่ราบรื่นเหมือนสมัยยุบพรรคไทยรักไทยเมื่อ 5 ปีที่เเล้ว



ส่วนรัฐประหารตอบไม่ได้ว่าจะมีอีกหรือไม่ แต่ถ้าทหารออกมาจะเผชิญกับความยุ่งยาก ทั้งจากภายในประเทศที่มีคนคัดค้าน และจากภายนอกประเทศที่ต้องเจอแรงกดดัน



เหมือนอย่างพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะรัฐประหาร 19 ก.ย.49 และรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่ถูกแต่งตั้งจากคณะรัฐประหาร เคยเผชิญทั้งการบอยคอตและไม่ร่วมมือกับรัฐบาลของนานาประเทศ



ตอนนี้จึงไม่เห็นช่องทางของรัฐบาลเทพประทาน 2 หรือถ้าจะเกิดคงไม่ง่าย และราบรื่น ต้องเจอกระแสต่อต้านแน่นอน





ทวี สุรฤทธิกุล

รัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช



สถานการณ์ขณะนี้ยากที่จะพลิกขั้ว แม้ผมจะเชื่อว่านักการเมืองไทยพร้อมเปลี่ยนขั้วทางการเมืองได้ตลอดเวลา ลำพังเสียงพรรคฝ่ายค้านไม่พอจัดตั้งรัฐบาลแน่



นอกจากภายในพรรคเพื่อไทยจะแตก แยกกันเอง



แต่หากยังผนึกกำลังกันเหนียวแน่นก็เป็นเรื่องยากที่จะมีงูเห่าภายในพรรคเพื่อไทย จนทำให้เกิดความสั่นคลอนและพลิกขั้วมีรัฐบาลใหม่



อีกทั้งตอนนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะมีรัฐบาลใหม่ที่ได้มาจากลักษณะเดิมอย่างที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2551 ซึ่งทำให้พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาล



เพราะรัฐบาลของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ยังคงทำงานอยู่



แม้ตลอดเส้นทางการทำงานจะมีหลายประเด็นที่ทำให้สังคมเคลือบแคลงสงสัย ไม่ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเสนอร่างพ.ร.บ.ปรองดอง คดีที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ และล่าสุดยังมีเรื่องสนามบินอู่ตะเภา



แต่ประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งหมดคงไม่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล หรือเกิดการปฏิวัติรัฐประหารโดยใช้กำลังทหารขึ้นได้



สิ่งน่ากลัวคือการรัฐประหารเงียบที่มาจากอำนาจพิเศษ อาจเป็นในลักษณะของการตกลงกัน โดยมีคนกลางมาจับขั้วให้จนกลายเป็นรัฐบาลแห่งชาติ



ทราบว่าขณะนี้เริ่มก่อตัวผนึกกำลัง แต่หากเป็นเช่นนั้นพรรคเพื่อไทยและมวลชนคนเสื้อแดงคงไม่ยอม



อยากให้จับตาสถานการณ์ช่วงเปิดสมัยประชุมสภาเดือนส.ค. ที่อาจสอดคล้องกับช่วงศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ



อำนาจพิเศษคงหาหลายหนทางมา บล็อก ไม่ให้รัฐบาลที่มีพ.ต.ท.ทักษิณอยู่เบื้องหลังมีความเข้มแข็ง



นิคม ไวยรัชพานิช

รองประธานวุฒิสภา



เห็นอยู่ว่าคนซีกรัฐบาลโดนจัดหนักช่วงนี้ โดยเฉพาะหลายๆ คดีประดังเข้ามาพร้อมกัน แต่ผมพยายามมองในแง่ดีไว้ก่อนว่าเป็นช่วงจังหวะเวลาพอดีกันมากกว่า



เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังไม่ใช่สัญญาณอันตรายต่อรัฐบาล เพียงแต่ผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับคดีต้องออกมาชี้แจงถึงเหตุผล ให้สังคมหายกังขาและสบายใจขึ้น



แต่สิ่งที่เป็นห่วงคือความพยายามปล่อยข่าวปั่นหัวว่า บ้านเมืองจะถึงจุดเดดล็อกจนต้องหาคนที่เป็นกลางเข้ามาช่วยเหลือบ้านเมือง ทั้งที่สถานการณ์ตอนนี้ยังไม่ถึงจุดต้องพลิกขั้วหรือตั้งรัฐบาลแห่งชาติ



กุศโลบายอันแยบยลของฝ่ายตรงข้ามคือ ต้องการให้เกิดความไม่เชื่อใจกันมากกว่า ก็ว่าไปตามเกมการเมืองอยู่แล้ว



แต่อยากให้มองลึกๆ ว่าการตั้งรัฐบาลแห่งชาติได้ ต้องเกิดจากความเห็นพ้องของสังคมทุกฝ่ายก่อน และการปฏิบัตินั้นต้องเป็นไปตามทำนองคลองธรรมของประชาธิปไตย



ไม่ใช่นำประชาธิปไตยมาใช้เป็นเครื่องมือ ทั้งที่ความจริงไม่ใช่ประธิปไตยเลย



การขึ้นมาบริหารประเทศโดยเหยียบย่ำอำนาจประชาชน จะไม่สามารถอยู่ได้นาน ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น เพราะอีกไม่นานประเทศจะเกิดการชิงอำนาจอีกแน่



การเสี้ยมจึงไม่ใช่คำตอบที่จะนำมาอ้างเป็นเงื่อนไขจัดตั้งรัฐบาลใหม่ คนสู้กันแทบตายทั้งในและนอกสภา จู่ๆ จะมาจูบกันได้อย่างไร



ประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญบอกว่าส่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองยิ่งเป็นไปไม่ได้ ส.ส. ทั้งหลายก็ร่วมกันโหวตและเคารพเสียงตั้งแต่วาระหนึ่งจนวาระสอง พร้อมกับขออภิปรายแก้ไขเนื้อหาที่เห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญแล้ว



ดังนั้นอย่าคิดทำอะไรที่ฝืนความรู้สึกประชาชนเลย



ส่วนการบริหารประเทศที่วิจารณ์ว่ากำลังถึงทางตันนั้น คงไม่ใช่ ยังมีทางออก สถานการณ์ใช่ว่าจะสุกงอม แต่ถ้าจะให้ดี ประเด็นอ่อนไหวโดยเฉพาะกฎหมายปรองดอง หยุดไว้เลยดีกว่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น