วันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2555

บทวิเคราะห์ไทยโพสต์

ปูพรมถล่มองค์กรอิสระ 'เพื่อไทย'หวังกินสองเด้ง
  • 25 มิถุนายน 2555
  • ขยายปมโดย สม  มมร.
แม้การเมืองจะเข้าสู่โหมดพักครึ่งเวลาก็ตาม เพราะอยู่ในระหว่างการปิดสมัยประชุมรัฐสภาเป็นเวลาประมาณ 40 วัน ก่อนเปิดอีกครั้งในเดือน ส.ค. เพื่อเข้าสู่สมัยประชุมสามัญทั่วไปแบบเข้มข้น แต่การเมืองใช่ว่าจะสงบปราศจากความเคลื่อนไหวเสียทีเดียว
โดยพรรคเพื่อไทยในเวลานี้เริ่มกระบวนการเตะขัดขาบ่อนเซาะความชอบธรรมขององค์กรอิสระอยู่เป็นระยะแบบเป็นรายองค์กร ล้วนเป็นการดำเนินการที่มีวัตถุประสงค์เคลือบแฝง
เริ่มตั้งแต่ ศาลรัฐธรรมนูญ ปมความไม่พอใจอยู่ที่รับคำร้องเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ว่าเข้าข่ายเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือไม่ ส่งผลให้การลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายต้องชะงักลงกลางคันถึงขั้นรวบรวมชื่อประชาชนเสื้อแดงยื่นต่อวุฒิสภาเพื่อถอดถอนศาลรัฐธรรมนูญฐานใช้อำนาจโดยมิชอบ ที่ตอนนี้อยู่ในระหว่างกระบวนการตรวจสอบความถูกต้องของรายชื่อ
เช่นเดียวกับเมื่อไม่นานมานี้เพิ่งวินิจฉัยให้ จตุพร พรหมพันธุ์พ้นจากตำแหน่ง สส.บัญชีรายชื่อ ฐานไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ทำให้ขาดคุณสมบัติไปโดยปริยาย สร้างอาการหัวเสียให้กับแกนนำเสื้อแดงรายนี้พอสมควร รวมไปถึงกรณีล่าสุดอย่างการออกมาตั้งปมถล่มศาลรัฐธรรมนูญถึงอำนาจส่งเรื่องให้ศาลยุติธรรมเพิกถอนการประกันตัวของจตุพร

ถัดมา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นองค์กรหนึ่งที่อยู่ในบัญชีแค้นของพรรคเพื่อไทยมาตลอด อย่างล่าสุดเพิ่งมีความเห็นส่งให้อัยการสูงสุดฟ้องศาลเพื่อดำเนินคดีกับ ยงยุทธ วิชัยดิษฐรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ในคดีที่ดินอัลไพน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย
ขณะที่ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ถือเป็นคู่ขัดแย้งใหม่ของพรรคเพื่อไทย จากเดิมก่อนหน้านี้ไม่ค่อยเป็นเป้าทางการเมืองมากนัก สาเหตุของการชวนทะเลาะมาจากการให้ความเห็นในจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ค่อยเป็นคุณกับพรรคเพื่อไทยเท่าไหร่นัก เช่น การมีความเห็นว่าการแต่งตั้ง ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อเป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์ ไม่มีความเหมาะสม และศาลเคยมีคำสั่งการชุมนุมของคนเสื้อแดงไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ
คิวต่อมาเป็น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สาเหตุมาจากการวินิจฉัยส่งเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง แจกใบแดง การุณ โหสกุลสส.เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร (กทม.) พรรคเพื่อไทย ข้อหาใส่ร้ายป้ายสีแทนคุณ จิตต์อิสระ ผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ โดยเพื่อไทยร้องว่า กกต.น่าจะเอาผิดกับพรรคประชาธิปัตย์ที่มักจะพูดใส่ร้ายพรรคเพื่อไทยได้เช่นกัน
ไม่เว้นแม้แต่ อัยการสูงสุด ซึ่งครั้งหนึ่งพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงออกตัวชมว่าเป็นองค์กรที่ให้ความเป็นธรรมกับประชาชนภายหลังมีความเห็นไม่ส่งคำร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68
แต่ทุกอย่างกลับตาลปัตรทันทีที่อัยการสูงสุดมีความเห็นส่งฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อเอาผิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จากกรณีธนาคารกรุงไทยอนุมัติสินเชื่อไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่ระบบเศรษฐกิจของรัฐ
การเปิดแนวรบองค์กรอิสระครั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีเป้าหมายผลประโยชน์ทางการเมืองชัดเจนทั้งระยะสั้นและระยะยาว
ระยะสั้น หนีไม่พ้นการสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเองในฐานะเป็นผู้ถูกกล่าวหาในหลายคดี เห็นได้ชัดคือ คดีล้มล้างการปกครองในศาลรัฐธรรมนูญ ผลของคดีนี้จะสามารถนำไปสู่การยุบพรรคเพื่อไทยในอนาคตได้ ถ้าศาลให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
กลายเป็นปัจจัยให้พรรคเพื่อไทยต้องพยายามหาประเด็นมาหว่านล้อมให้สังคมเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญมีความคิดเป็นปฏิปักษ์กับเพื่อไทย พร้อมกับเป็นน้ำเลี้ยงกระแสให้มวลชนคนเสื้อแดงเตรียมพร้อมออกมาเคลื่อนไหวป้องกันกดดันศาลไม่ให้ยุบพรรคด้วย
ระยะยาว วัตถุประสงค์อยู่ที่การชี้ชวนให้สังคมคล้อยตามและเชื่อว่าองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 2550 มีปัญหาในการวินิจฉัยอรรถคดี ภายใต้ทฤษฎีต้นไม้พิษ กล่าวคือ เมื่อรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นผลผลิตจากรัฐประหารย่อมทำให้องค์กรอิสระย่อมเป็นเนื้อร้ายเช่นกัน
ขบวนการเหล่านี้จะกลายเป็นข้ออ้างให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในอนาคต (หากผ่านศาล) สามารถเข้าไปรื้อองค์กรอิสระได้ เป็นธงที่พรรคเพื่อไทยได้ตั้งเอาไว้แล้ว
ความพยายามเข้าไปรื้อองค์กรอิสระมาจากรัฐธรรมนูญปัจจุบันบัญญัติให้การสรรหาเป็นหน้าที่หลักของประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครอง ประธานรัฐสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ตัดตอนวุฒิสภามีอำนาจเพียงจะเห็นชอบกับรายชื่อจากคณะกรรมการสรรหาหรือไม่เท่านั้น ไม่มีสิทธิเลือก ต่างจากรัฐธรรมนูญ 2540
ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีเลือก ป.ป.ช. 9 คน ถ้าภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 คณะกรรมการจะเสนอชื่อเพียง 5 คน ให้วุฒิสภามีความเห็น แต่หากเป็นรัฐธรรมนูญ 2540 จะให้คณะกรรมการสรรหาเสนอชื่อจำนวน 2 เท่า ให้วุฒิสภามีสิทธิเลือกได้
การเลือกองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 2540 ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอดว่าเป็นบ่อเกิดการล็อกสเปกเพราะฝ่ายการเมืองสามารถเข้าไปมีอิทธิพลเหนือวุฒิสภาได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม
เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ 2550 ต้องการเข้ามาแก้ไขปัญหานี้ด้วยการลดอำนาจวุฒิสภาและให้ศาลซึ่งถือว่าเป็นที่ยอมรับของสังคมเข้ามามีบทบาทแทนฝ่ายการเมือง
เท่ากับว่างานนี้พรรคเพื่อไทยหวังเก็บแต้ม 2 เด้ง แต่จะสำเร็จหรือไม่ต้องตามกันยาวๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น